เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในปี 2563- 2564 ซึ่ง ณ ปัจจุบันนับเป็นโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วทั้งโลก รวมทั้งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายและปัญหาในการจัดการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ “วัคซีนป้องกันโรค” หรือ “ยารักษาโรค” หากแต่โรคระบาดดังกล่าว ยังไม่มียาสมัยใหม่ที่สามารถรักษาได้ผลในเชิงประจักษ์
จึงมีประชาชนจำนวนมาก พยายามเสาะแสวงหาพืชสมุนไพรที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยป้องกันหรือสามารถรักษาโรคได้ ส่งผลให้พืชสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร ยาห้าราก (ประกอบด้วย รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากไม้เท้ายายม่อม) และพืชสมุนไพรไทยอื่นๆ ที่มีสรรพคุณเกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ เกิดภาวะขาดแคลนในท้องตลาดในการรักษาตามหลักการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการโรคไข้หวัดต่างๆ หรือพืชสมุนไพรไทยที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ตามคัมภีร์ตักศิลา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ใช้รักษาโรคไข้มาช้านานหลายร้อยปี ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ได้ระบุวิธีการรักษาตามลำดับขั้นตอน 3 ตำรับดังนี้ ลำดับแรกต้องรักษาด้วยตำรับยากระทุ้งพิษเพื่อขับพิษออกจากร่างกายโดยใช้ยาห้าราก ซึ่งยาชนิดนี้ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จากนั้นรักษาต่อด้วยตำรับยาแปรไข้ ได้แก่ จันทลีลา หรือยาประสะจันทน์แดง ซึ่งช่วยลดอาการไข้ ความร้อนขึ้น ลำดับสุดท้ายรักษาต่อด้วยตำรับยาครอบไข้ ได้แก่ ยาครอบไข้ตักศิลา ช่วยบำรุงอวัยวะภายใน และบำรุงร่างกายให้แข็งแรงไม่กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งตามบันทึกโบราณดังกล่าวล้วนใช้พืชสมุนไพรไทยเป็นองค์ประกอบของการปรุงยาทั้งสิ้น
สำหรับเชื้อไวรัสโควิด – 19 ลักษณะของโรคส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิเยอะเกินไป แพทย์แผนปัจจุบัน รักษาด้วยการให้ยากดภูมิ ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ณ ปัจจุบัน ยังไม่พบยารักษาหรือกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้โดยตรง จึงมีความจำเป็นต้องรักษาและประคับประคองตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ซึ่งมีความแตกต่างจากการรักษาในรูปแบบของแพทย์แผนไทย โดยจะทำการรักษาด้วยการปรับสมดุลของร่างกาย มีการใช้พืชสมุนไพรและอาหารเป็นหลัก เช่น การเลือกรับประทาน “อาหารเป็นยา” ซึ่งนับเป็นหลักการในการป้องกันตนเองในขั้นต้น ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ยกตัวอย่างเมนูอาหารที่ปรุงจากพืชสมุนไพรไทย เช่น แกงส้มดอกแค, แกงเลียง, ต้มยำ เป็นต้น หรือการรับประทานพืชสมุนไพรที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะขามป้อม มะนาว ใบมะขาม ใบส้มป่อย ในส่วนของผู้ที่ต้องการรับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสามารถรับประทานได้ แต่ต้องลดปริมาณลงเหลือเพียงวันละ 1 มื้ออาหารก็เพียงพอ เนื่องจากหากรับประทานมากเกินไป ในระยะยาวอาจส่งผลต่อระบบไตและทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้
สำหรับในด้านการเกษตรการปลูกพืชสมุนไพรไทย อาทิ ฟ้าทะลายโจร หากต้องการปลูกเป็นพืชในครัวเรือน และใช้เป็นยาสมุนไพรในบ้าน ขั้นตอนและกระบวนการปลูก มิได้ปลูกยากแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ต้องใช้เวลาดูแลรักษามาก เพราะเป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว การเก็บเกี่ยวใช้เฉพาะส่วนใบ หรือใช้ต้นเหนือดินก่อนมีผลข้อแนะนำในการเก็บเกี่ยวใบ ควรจะเก็บช่วงกำลังออกดอก แต่ดอกยังไม่บาน ไม่ควรเก็บเกี่ยวเกินระยะดังกล่าว เพราะสารสำคัญและสรรพคุณทางยาจะลดลง ปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดของพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว อันเป็นผลจากความตื่นตัวของผู้บริโภคในภาวะโรคไวรัสระบาดดังกล่าวที่ส่งผลให้สินค้าขาดตลาด เนื่องจากวัตถุดิบที่จะนำเข้าสู่กระบวนการสกัดเป็นยาซึ่งก็คือ ต้นฟ้าทะลายโจร มีปริมาณไม่เพียงพอ โดยข้อมูลด้านราคาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมราคาซื้อ - ขายปกติ 30 - 40 บาท/กิโลกรัม ปัจจุบันราคาปรับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 120 - 150 บาท/กิโลกรัม
ในด้านเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกพืชสมุนไพรไทย มีข้อแนะนำจากประสบการณ์จริงว่าหากจะทำการปลูกพืชสมุนไพรไทยในเชิงพาณิชย์ หรือส่งออกไปยังต่างประเทศ ควรจะทำการศึกษาให้รอบด้านเกี่ยวกับพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ และอาศัยความรอบคอบในการวางแผนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนตารางระยะเวลาของการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องคำนึงเนื่องด้วยพืชสมุนไพรจะมีช่วงเวลาที่ให้คุณค่าและสารหรือสรรพคุณทางยามากที่สุดในการออกฤทธิ์ โดยพืชสมุนไพรไทยบางชนิดต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกไปจนถึงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวค่อนข้างนาน สมุนไพรบางชนิดต้องใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวนานถึง 4 – 5 ปี กว่าจะนำมาสกัดเป็นยาได้ ซึ่งบางชนิดอาจใช้ระยะเวลานานถึง 10 ปี
กระบวนการรักษาและการใช้ยาตามหลักการแพทย์แผนไทยดังกล่าวยังมีอีกมากมายหลายขนาน ที่กล่าวมาเป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นภาพและเข้าใจพอสังเขป ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาเชิงการแพทย์ของบรรพบุรุษไทยที่ได้ศึกษาเรียนรู้พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมา ภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยดังกล่าวมีความพร้อมทั้งในเชิงป้องกันและในเชิงรักษาผู้ที่ติดเชื้อ หรือผู้ที่กังวลว่าจะติดเชื้อหรือไม่ โดยสามารถบูรณการกระบวนการรักษาร่วมกันกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้ เพื่อใช้เป็นทางเลือกให้กับประชาชนในภาวะที่ประสบวิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งนี้หรือในอนาคตได้ โดยหากแต่ละครัวเรือนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก กระบวนการดูแล สรรพคุณของพืชสมุนไพรไทย และสามารถปลูกไว้ประจำครัวเรือนได้ จะยังประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชน ซึ่งในอนาคตอาจสามารถใช้เป็นอาหารเสริม หรือยาสามัญประจำบ้าน (ที่อยู่บนดิน) และลดการพึ่งพาระบบสาธารณสุขหรือการแพทย์ในกรณีที่เกิดสภาวะฉุกเฉินน้อยลง
ดังนั้นคณะเกษตรศาสตร์ โดย อาจารย์ดร.ธนะชัย พันธ์เกษมสุข มีหน่วยห้องปฏิบัติการทางการวิเคราะห์ที่จะบริการให้คำปรึกษา สำหรับเกษตรกรที่สนใจ ในการหาความรู้เรื่องสารสกัดจากสมุนไพรไทยในการป้องกันโรคสำหรับคนที่สนใจ นอกจากวัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตยาสมุนไพรแล้ว ยังต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ต้องสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
อ.วัลลภ เผ่าพนัส ประธานสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา และ อ.ดร.ธนะชัย พันธ์เกษมสุข
อาจารย์ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ สาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่